วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อ.เมือง จ.สกลนคร

          วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตั้งอยู่ ถ.เจริญเมือง อ.เมือง จ.สกลนคร สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคติการบูชารอยพระพุทธบาทผ่านตำนานอุรังคธาตุ ที่กล่าวถึงกำเนิดพระธาตุเชิงชุมไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระอรหันตสาวก ได้เสด็จโปรดสัตว์และประทับรอยพระพุทธบาทตามสถานที่ต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขง เมื่อเสด็จมายังเมืองหนองหารหลวงซึ่งสันนิษฐานว่าคือ เมืองสกลนคร ปัจจุบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับซ้อนลงบนรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง 3 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า ที่ได้เคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้แล้วในบริเวณที่ เรียกว่า ภูน้ำลอด ซึ่งสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ตั้งของพระธาตุเชิงชุมในปัจจุบัน พระยาสุวรรณกิงคารผู้ครองเมืองหนองหารหลวงจึงโปรดให้ก่ออบมุง (อุโมงค์) ครอบรอยพระบาทดังกล่าวไว้ จึงเป็นที่มาของนาม พระธาตุเชิงชุม ซึ่ง เชิงชุม หมายถึง การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่

พระธาตุเชิงชุมแบบศิลปะล้านช้าง

สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ

พระธาตุเชิงชุม

          พระธาตุเชิงชุม เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 24 เมตร ตั้งหันหน้าไปทางหนองหารที่อยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท มีซุ้มประตู 4 ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท
แต่แรกเริ่มพระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม โดยพบหลักฐานเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ บริเวณกรอบประตูทางด้านทิศตะวันออก เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงการอุทิศที่ดินและสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่เทวสถาน กำหนดอายุสมัยจากอักษรได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 สอดคล้องกับสถานที่ตั้งองค์พระธาตุที่ตั้งภายในแนวกำแพงเมืองคูเมืองสกลนครซึ่งมีรูปทรงคล้ายรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสซึ่งเป็นคติการสร้างบ้านเมืองแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ

          องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิม มีลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านช้างเนื่องอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 19

ปราสาทเขมรองค์เดิม

วิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม

พระวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร ปัจจุบันมี 2 องค์ ด้านหน้านั้น คือ หลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลัง คือ หลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่บูรณะวัดครั้งใหญ่ และประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังหล่อพ่อองค์เดิมเพื่อรอทุบหลวงพ่อองค์เดิมทิ้ง แต่เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้ไม่สามารถทุบทิ้งได้ ในเวลาต่อมาจึงประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนทั้งสององค์ไว้ในลักษณะเดิม

หลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุ และหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อองค์แสน

พระอุโบสถหลังเดิมหรือสิมเก่า

          มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างพื้นถิ่นอีสานและสถาปัตยกรรมตะวันตก โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วไม่ซ้อนชั้นมุงด้วยกระเบื้องไม้ (แปันเกล็ด) หันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ประทับบนฐานชุกซีขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์

พระอุโบสถหลังเดิม
พระพุทธบาทสี่รอย
พระพุทธบาทสี่รอย

นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถเก่ายังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธบาทสี่รอย ลักษณะรอยพระพุทธบาทจำลองสลักจากหินทรายปิดทองเป็นรอยพระบาทข้างขวา ขอบด้านนอกของรอยพระพุทธบาทซ้อนลดหสั่นกัน 3 ชั้น หมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ ส่วนของ รอยพระบาทข้างขวาขนาดใหญ่ที่ปรากฎหมายถึงรอยพระบาทของ พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)

ภายในพระอุโบสถหลังใหม่
ภายในพระอุโบสถหลังใหม่

พระอุโบสถ (หลังใหม่)

ด้านในประดิษฐานพระประธาน และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

เป็นบ่อน้ำที่มีมาพร้อมองค์พระธาตุเชิงชุม เดิมมีน้ำพุผุดขึ้นมาเนื่องจากเป็นปลายทางของลำน้ำใต้ดินซึ่งไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ผ่านศูนย์ราชการด้านทิศเหนือ ผ่านใจกลางเมืองข้างวัดเหนือ แล้วไหลมาผุดที่นี่ เรียกว่า ภูน้ำซอด หรือ ภูน้ำลอด แล้วไหลผ่านไปที่สระพังทอง ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ติดกับวัด เมื่อน้ำน้อยลงเรื่อย ๆ จึงได้มีการทำผนังกั้นไม่ให้ดินพังลงไป ต่อมามีการบูรณะและสร้างเป็นรูปปั้นพญานาคพ่นน้ำบริเวณรอบบ่อ เพื่อเป็นรูปแทนพระยาสุวรรณนาค พญานาคตามความเชื่อของชาวสกลนคร ที่เป็นนาคผู้ทรงคุณธรรม ทรงศีล และอิทธิฤทธิ์ มีเกล็ดเป็นทองคำ ทำหน้าที่คอยปกป้องและรักษารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุม

งานประจำปีของ พระธาตุเชิงชุม นั้น จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) ของทุกปี อีกทั้งยังมี งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งขันเรือยาวในช่วงวันออกพรรษาอีกด้วย

ชาวสกลนครนั้นเชื่อว่าการมาสักการะ พระธาตุเชิงชุม จะช่วยให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง และขอพรให้มีโชคลาภได้

งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

แผนที่ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตั้งอยู่ ถ.เจริญเมือง อ.เมือง จ.สกลนคร

#วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร #สกลนคร #พระธาตุเชิงชุม #หลวงพ่อองค์แสน #รอยพระพุทธบาทสี่รอย #ชวนไหว้พระทำบุญทั่วไทย #บ้านไอศูรย์