ความรู้จักประมาณ ทำให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ
มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ
ความรู้จักประมาณ ทำให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ
เกร็ดเรื่องราว
อรรถกถา คิชฌชาดก
ว่าด้วย ผู้ไม่ทำตามคำสอนย่อมพินาศ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากซึ่งเป็นลูกผู้ดีคนหนึ่ง แม้บวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์ เมื่ออาจารย์อุปัชฌาย์และเพื่อนพรหมจารีผู้หวังดี กล่าวสอนว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ มองไปข้างหน้าอย่างนี้ เหลียวซ้ายแลขวาอย่างนี้ คู้เข้าอย่างนี้ เหยียดออกอย่างนี้ นุ่งอย่างนี้ ห่มอย่างนี้ ถือบาตรอย่างนี้ พึงรับภัตแต่พอยังอัตภาพให้เป็นไป พิจารณาก่อนแล้วจึงฉัน ฯ
ภิกษุผู้ว่ายากไม่อดทนต่อโอวาท ไม่ยินดีรับคำสอน กล่าวตอบว่า กระผมไม่ได้ว่าพวกท่าน เหตุไรพวกท่านจึงว่ากระผม กระผมเท่านั้นจักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับผม
พระศาสดาตรัสถามว่า ได้ยินว่า เธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่าจริง จึงตรัสว่า เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงไม่เชื่อคำของผู้ที่หวังดี แม้ในกาลก่อน เธอก็ไม่เชื่อคำ ต้องแหลกละเอียดในช่องลมเวรัมพวาตมาแล้วดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกแร้งที่เขาคิชฌกูฏ นกแร้งนั้นมีบุตรเป็นพญาแร้งชื่อ สุปัต ซึ่งมีกำลังมาก มีนกแร้งหลายพันเป็นบริวาร พญาแร้งนั้นเลี้ยงดูมารดาบิดา แต่เพราะความที่ตนมีกำลังมาก จึงบินไปไกลเกินควร
บิดาได้กล่าวสอนพญาแร้งนั้นว่า
“ลูกรัก เมื่อใดเจ้าเห็นแผ่นดินมีทะเลล้อมรอบ กลมประหนึ่งว่ากงจักร ลอยลิบๆ อยู่ดุจใบบัวลอยอยู่ในน้ำ เจ้าจงรีบกลับเสียจากที่นั้น อย่าบินต่อจากนั้นไปอีกเลย”
พญาแร้งนั้นแม้รับคำว่า ดีแล้ว ก็จริง แต่วันหนึ่งเมื่อฝนตกใหม่ๆ ได้บินไปกับนกแร้งทั้งหลาย
นกแร้งสุปัตเป็นสัตว์ มีร่างกายสมบูรณ์ มีกำลังมาก มีปีกแข็ง บินขึ้นไปถึงอากาศเบื้องบนโดยกำลังเร็ว ทิ้งนกแร้งหลายเสีย เมื่อเหลียวกลับมาแลดูภูเขาและป่าไม้ทั้งหลาย ก็ได้เห็นแผ่นดินมีทะเลล้อมรอบ กลมดุจกงจักรเหมือนคำของบิดาบอกไว้
นกแร้งสุปัตก็บินล่วงเลยที่นั้น ไปเบื้องหน้าอีก ยอดลมแรงแข็งกล้า ได้ประหารนกแร้งสุปัตผู้มีกำลังมากนั้นให้แหลกละเอียด นกแร้งสุปัตบินเกินไป ไม่สามารถจะกลับจากที่นั้นได้อีก ตกอยู่ในอำนาจลมเวรัมพวาต ถึงความพินาศแล้ว
เมื่อนกแร้งสุปัตไม่ทำตามโอวาทของบิดา บุตรภรรยาและนกแร้งอื่นๆ ที่อาศัยเลี้ยงชีพด้วย ก็พากันถึงความพินาศไปด้วยกันหมด
เรื่องนี้จึงให้แนวคิดว่า
ควรรู้จักประมาณความสามารถของตน
ความรู้จักประมาณ ทำให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ
หนังสือ พระเจ้า 500 ชาติ ฉบับสมบูรณ์ สถาบันบันลือธรรม ธรรมสภา หน้า 226
คิชฌชาดก ผู้ไม่ทำตามคำสอนย่อมพินาศ พระไตรปิฎกเล่มที่ 17 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 อ่านเพิ่มเติม https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5101&Z=5126
#ความรู้จักประมาณทำให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ #คิชฌชาดก #สุปัต #พญาแร้ง #บ้านไอศูรย์ #ปันธรรม