ปันธรรม: 16 ตุลาคม 2566 ถึงเป็นเรื่องจริงเรื่องดี ก็ควรพูดให้ถูกเวลา

ถึงเป็นเรื่องจริงเรื่องดี ก็ควรพูดให้ถูกเวลา

วาจํ ปมุญฺเจ กุสลํ นาติเวลํ
วาจัง ปะมุญเจ กุสะลัง นาติเวลัง

ไม่ควรเปล่งวาจาที่ดีให้เกินกาล

คำพูดนั้นมีความสำคัญมาก
คำพูดที่ดีย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ
คำพูดที่ไม่ดีย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย

ดังนั้นจึงควรพูดแต่คำพูดที่ดี และต้องพูดให้เหมาะกับกาลเทศะด้วย

คำพูดที่ดีนั้น ประกอบด้วยลักษณะ 5 อย่าง ดังนี้

1) กล่าวในกาลที่สมควร
2) กล่าวคำสัตย์
3) กล่าววาจาสุขุม ละเอียด ไม่หยาบคาย
4) กล่าวคำที่มีประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า
5) กล่าวคำประกอบไปด้วยจิตเมตตา

นิทานชาดก: ราธชาดก
พราหมณ์กับนกแขกเต้า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดนกแขกเต้า ชื่อว่า ราธะ มีน้องชื่อ โปฏฐปาทะ
พรานคนหนึ่งจับลูกนกแขกเต้าสองพี่น้อง ไปให้แก่พราหมณ์คนหนึ่งในกรุงพาราณสี

พราหมณ์เลี้ยงดูนกแขกเต้าไว้ในฐานะบุตร โดยพราหมรณ์มีภรรยาเป็นแต่นางพราหมณี ที่เป็นหญิงไม่รักษาเนื้อรักษาตัว เป็นคนทุศีล

วันหนึ่ง ก่อนพราหมณ์จะไปทำการค้า ได้เรียกลูกนกแขกเต้าพี่น้องมาสั่งว่า

“แน่ะลูกพ่อ พ่อจะไปทำการค้า เจ้าทั้งสองคอยดูการกระทำของแม่เจ้า ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน พึงสืบดูว่า มีชายอื่นไปมาหรือไม่”

ในช่วงพี่พราหมณ์ไม่อยู่
นางพราหมณี ก็ได้คบชู้สู่ชายมากหน้าหลายตา ไป ๆ มา ๆ ทั้ง ทั้งกลางคืนกลางวัน นกโปฏฐปาทะผู้น้องเห็นดังนั้น จึงถามนกราธะว่า เราจะว่าแกดีหรือ
นกราธะตอบว่า “อย่าว่าแกเลย น้อง”

แต่นกโปฏฐปาทะไม่เชื่อฟังคำของนกราธะ จึงไปต่อว่า นางพราหมณีว่า
“แม่ เพราะอะไร แม่จึงทำการน่าอดสูอย่างนี้”

นางพราหมณีถูกต่อว่าเช่นนั้นก็นึกอยากจะฆ่านกโปฏฐปาทะนัก จึงแสร้างทำเป็นรัก ร้องเรียกให้มาหา
“นี่ลูก เจ้าก็เป็นลูกของแม่ ตั้งแต่นี้ไปแม่จักไม่ทำอีก มานี่ก่อนซิลูก”

พอนกโปฏฐปาทะมา ก็ตะคอกว่า
“เจ้าพูดกะเรา เจ้าไม่รู้ประมาณตน” แล้วบิดคอเสียจนตายโยนลงไปในเตา

เมื่อพราหมณ์กลับมาถึงบ้าน ก็ได้ถามราธะนกผู้พี่ว่า
“แน่ะพ่อราธะ แม่ของเจ้าได้ไปคบหาบุรุษอื่นหรือไม่”
นกราธะตอบว่า
“ข้าแต่พ่อ บัณฑิตจะไม่พูดวาจาสัจจริง แต่ไม่ดี เพราะหากพูดไปก็คงจะต้องถูกเผานอนจมอยู่ในเตาไฟดุจน้องโปฏฐปาทะเป็นแน่”

เพิ่มเติม
นกแขกเต้าโปฏฐปาทะในครั้งนั้น ได้เป็น อานนท์
สัจจะ คือมีสภาพที่เป็นจริงและประกอบด้วยประโยชน์
ความจริงที่ไม่ดี คือ ไม่ทำให้พ้นทุกข์

ที่มา
พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 ราธชาดก
ว่าด้วยเรื่องจริงเก่าไม่ดีไม่ควรพูด