ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
(นัตถิ สันติปะรัง สุขัง)

ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

พระไตรปิฎก เล่มที่ 25
ขุททกนิกาย ธรรมบท สุขวรรคที่ 15

ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี Read More »

วัดชลอ ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

          วัดชลอ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2275 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยตอนเหนือ หรือ เดิมเรียกว่า คลองลัดบางกรวย ที่เชื่อมต่อกับคลองอ้อมนนท์และคลองบางกรวยซึ่งขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2081  ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา

          บริเวณที่ตั้งของวัดชลอเป็นโค้งน้ำที่ไหลเชี่ยว และเป็นทางแยก จึงมักมีอุบัติเหตุเรือล่มและมีคนจมน้ำเสียชีวิตอยู่เสมอ จนมีตำนานเล่าว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคผ่านคลองลัดบางกรวย ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้น่าจะสร้างวัด เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน รวมถึงเป็นจุดสังเกตให้คนเรือได้ลดความเร็วและใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเมื่อมาถึงบริเวณนี้ ส่วนชื่อวัดชลอนั้น สันนิษฐานว่าได้รับพระราชทานนามจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่ก็ว่ามาจากคำว่า ช้า และ รอ คือ หยุดรอดูว่าจะมีเรือมาจากทิศไหนบ้าง และกลายเป็นชลอในที่สุด

          ภายในวัดชลอ มีสถานที่และสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถหลังเก่า พระอุโบสถเรือสุพรรณหงส์ และ ศาลเจ้าพ่อไชยสร-เจ้าแม่ภาณี เป็นต้น

พระอุโบสถหลังเก่า

         พระอุโบสถหลังเก่า สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2300 เป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูนอยู่ในผังสี่เหลี่ยม มีลักษณะทรงไทยรูปเรือสำเภาโบราณฐานอาคารแอ่นโค้งแบบที่เรียกว่า “ตกท้องสำเภา” มีอาคารโถงเป็นมุขด้านหน้าอุโบสถ ชั้นหลังคาประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ที่หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาอย่างสวยงาม เป็นลักษณะศิลปกรรมสมัยอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์ พระประธานในอุโบสถชื่อ หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 9 นิ้ว รอบฐานมีเสมาอยู่ทั้ง 8 ทิศ กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดชลอ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอน 97 วันที่ 16 มิถุนายน 2522

หลวงพ่ออู่ทอง พระประธานในพระอุโบสถเก่า
โบสถ์เรือสุพรรณหงส์

          อุโบสถเรือสุพรรณหงส์ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2526 โดยดำริของพระครูนนทปัญญาวิมล (หลวงพ่อสุเทพ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชะลอ สามารถเดินขึ้นไปบนเรือเพื่อชมสิ่งก่อสร้างด้านบน และเข้าไปยังพระอุโบสถกลางลำเรือเพื่อเข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อดำ พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ได้ 

หลวงพ่อดำ พระประธานในโบสถ์เรือสุพรรณหงส์
ศาลเจ้าพ่อไชยสร เจ้าแม่ภาณี หรือ ปึงเถ่ากงม่า

          ศาลเจ้าพ่อไชยสร เจ้าแม่ภาณี หรือ ปึงเถ่ากงม่า บางกรวย เป็นศาลเจ้าขนาดเล็กอยู่ริมคลองบางกรวย ตั้งอยู่ ภายในวัดชลอ ติดริมคลองบางกรวยใกล้กับประตูส่งน้ำ เป็นศาลเจ้า ที่ถูกสร้างขึ้นแทนที่ศาลเจ้าเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยโดยรอบวัดมาช้านาน ด้านข้างศาลเจ้ามีองเจ้าแม่กวนอิม และ องค์เจ้าพ่อเห้งเจีย ชาวบ้านนิยมมาขอพรเรื่องสุขภาพและโชคลาภ ถ้าสำเร็จก็จะนิยมนำน้ำสีดำมาถวาย

          ศาลเจ้าแม่บัวลอย เป็นศาลไม้บริเวณสะพานข้ามคลองด้านหลังวัด ภายในมีรูปปั้นหญิงสาวสวมผ้าไทย และมีชุดไทยจำนวนมากแขวนถวายไว้ เรื่องของเจ้าแม่บัวลอยเล่าขานกันว่าเป็นพายเรือขายขนมในคลองบางกอกน้อยแล้วเกิดอุบัติเหตุเรือคว่ำเสียชีวิต ร่ำลือกันว่าเฮี้ยนมากจนไม่มีใครกล้าพายเรือในเวลากลางคืน จนต่อมาอดีตเจ้าอาวาสวัดชลอได้กระดูกของแม่บัวลอยมาไว้ที่วัด และภายหลังมีการสร้างศาลให้คนได้บูชา เล่ากันว่าแม่บัวลอยให้หวยแม่นมาก เป็นที่เลื่องลือ จนเจ้ามือหวยต้องส่งคนมาขโมยกระดูกไป

          เรื่องแม่บัวลอยนี้ได้รับการเล่าขานผ่านบทเพลง “บางกอกน้อย” ของชัยชนะ บุญนะโชติ ที่ทั้งไพเราะและโศกเศร้าว่า “น้ำเชี่ยวยิ่งเหลือ เจ้าจึงเป็นเหยื่อคลองบางกอกน้อย จิตใจพี่ให้เศร้าสร้อย ถึงบัวลอยแม่จอมขวัญ”

          ปัจจุบันวัดชลอเปิดให้บุคคลทั่วไป และพุทธศาสนิกชน เข้ากราบสักการะหลวงพ่ออู่ทองในพระอุโบสถหลังเก่า และก่อกำลังก่อสร้างบูรณะพระอุโบสถเรือสุพรรณหงส์ ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ให้สักการะ เช่น พระพุทธรูปประจำวันเกิด จตุคามรามเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีตลาดชุมชนริมคลองทุกวันหยุดสุดสัปดาห์อีกด้วย

แผนที่วัดชลอ ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

วัดชลอ ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี Read More »

วัดกลาง (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

          วัดกลาง หรือ วัดกลางบุรีรัมย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เดิมเป็นวัดร้าง มีประวัติเล่าว่าสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช – รัชกาลที่ 1) นำทัพไปปราบกบฏ และได้หยุดพักทัพที่บริเวณสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวัดกลางบุรีรัมย์ และโปรดเกล้าให้ยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ให้ชื่อว่า “วัดแปะใหญ่” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดกลาง” และได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของบุรีรัมย์เมื่อ พ.ศ. 2533

          วัดกลางสถานที่สำคัญ เช่น พระอุโบสถ สระสิงโต และศาลาหอพระไตรปิฎก เป็นต้น พระอุโบสถสร้างและบูรณะอยู่หลายครั้ง ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปหินศิลาแลง โอบด้วยปูน และลงรักปิดทอง เชื่อกันว่า หลวงพ่อโต มีพระพุทธคุณเมตตาเรื่องการขอบุตรธิดาและให้โชคลาภ

          บริเวณวัดยังมี สระสิงโต เป็นสระน้ำโบราณ ที่มีร่องรอยอารยธรรมขอม เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้ใช้ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เมื่อครั้งมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบ 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

          ศาลาหอพระไตรปิฎก ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งปัจจุบันวัดกลางพระอารามหลวง เป็นสถานที่ตั้งสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีพระเดชพระคุณ พระเทพปริยัตยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดกลางพระอารามหลวง ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์

แผนที่วัดกลาง (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

วัดกลาง (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ Read More »

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

          วัดญาณเวศกวัน เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ถัดจาก ด้านหลังพุทธมณฑลเพียง 100 เมตร เริ่มจากการเป็นสำนักสงฆ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 และจัดตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ. 2537 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกจนถึงปัจจุบัน ด้วยคุณูปการด้านการเผยแพร่หลักธรรมพระพุทธศาสนา ทั้งการบรรยายและผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย ท่านจึงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปที่ 2 ที่อยู่นอกพระนคร (รูปแรก คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) วัดศาลาปูน พระนครศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 5)

          ชื่อของวัดญาณเวศกวัน มีความหมายว่า ป่าที่มีเรือนแห่งความรู้ หรือ ป่าของผู้เข้าสู่ญาณพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในเนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา ของวัดจึงมีเต็มไปด้วยพรรณไม้หลากหลายมากกว่าสิ่งปลูกสร้าง ด้วยแนวคิดว่าธรรมชาติที่อยู่รายล้อมรอบตัวคือแหล่งการศึกษาเรียนรู้อันกว้างใหญ่ ล้ำลึก เป็นธรรมะใกล้ตัวที่ผู้มีปัญญาจะพึงค้นพบ

          วัดญาณเวศกวัน มีบรรยากาศไม่เหมือนวัดทั่วไป ภายนอกรอบรั้วปลูกไม้เลื้อยปกคลุม ภายในวัดรายล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่จนเป็นป่าขนาดย่อม สิ่งปลูกสร้างภายในวัดไม่มากนัก หลัก ๆ ประกอบด้วย

          พระอุโบสถ 2 ชั้น สีขาว ชั้นล่างโปร่งคล้ายใต้ถุน ใช้เป็นที่ประชุมจัดกิจกรรม ชั้นบนประดิษฐานพระประธาน นามว่า พระพุทธประธานญาณเวศกวโนดม หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว ประดิษฐานและทำพิธีสมโภชเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2542 ลักษณะของพระอุโบสถเรียบง่ายสะอาดตา ใช้สำหรับประกอบพิธีสงฆ์

          หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์ อาคารหอสมุด 3 ชั้น เป็นสถานที่เพื่อการศึกษาค้นคว้า พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากมีคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่สำคัญ อาทิ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคัมภีร์ตัพพินิมุต ไว้เป็นหลักในการค้นคว้าอ้างอิงแล้ว ยังเป็นที่เก็บรวบรวม ผลงานประพันธ์ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ตลอดจนหนังสือและข้อเขียนประกอบอื่น ๆ ที่เป็น ประโยชน์ต่อการใช้อ้างอิง สืบค้น ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น เปิดให้บริการทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.00 น. – 16.00 น. โดยสามารถยืมหนังสือออกมานั่งอ่านภายในบริเวณวัดได้

      ญาณเวศก์ธรรมศาลา อาคารโปร่งกว้างสำหรับถวายภัตตาหาร สังฆทาน และเป็นสถานที่ฉันภัตตาหารของพระสงฆ์ โดยพระจะนำสมาทานศีล รับถวายทาน สัมโมทนียกถา (แสดงธรรม) และอนุโมทนากถา (ให้พร) ตามลำดับ ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 06.55 น. และช่วงเพล เวลาประมาณ 10.30 น. โดยผู้ที่ประสงค์ถวายภัตตาหาร สามารถถวายได้ ทุกวัน เวลาประมาณ 09.00 น. 10.30 น.

          สิ่งที่โดดเด่นของวัดญาณเวศกวันนอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้างเรียบง่ายท่ามกลางผืนป่า คือการมุ่งเน้นการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นหอสมุด การแจกหนังสือธรรมะและสื่อธรรมต่าง ๆ เช่น ซีดีเสียงคำสอน เว็บไซต์สำหรับการศึกษาเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมทางธรรมที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตลอดทั้งสัปดาห์ ตลอดทั้งปี โดยผู้ที่สนใจ สามารถติดตามกิจกรรมทางธรรมและเนื้อหาคำสอนได้ที่เว็บไซต์ https://www.watnyanaves.net/th/activity-list

แผนที่วัดญาณเวศกวัน เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม Read More »

วัดบูรพาภิราม ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด

         หลวงพ่อใหญ่ วัดบูรพาภิราม ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด

         วัดบูรพาภิรามสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 เดิมชื่อ วัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบูรพาภิราม เพราะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคูรอบเมืองร้อยเอ็ด

         ภายในวัดประดิษฐาน พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือ หลวงพ่อใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 พระพุทธรูปปางประทานพร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 67 เมตร 85 เซนติเมตร นับได้ว่า เป็นพระพุทธรูปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเชื่อกันว่า หากใครได้มากราบไหว้ จะได้อานิสงส์สูงเทียมเท่านภา ไม่ว่าทำการสิ่งใดก็จะสำเร็จสมปรารถนาด้วยประการทั้งปวง

           นอกจากนี้ ใต้ฐานของพระพุทธรัตนมงคลมหามุนี ได้จัดแบ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หลากหลายห้อง และ ด้านหลังองค์ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียอีกด้วย

แผนที่วัดบูรพาภิราม ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด

วัดบูรพาภิราม ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด Read More »

หลวงพ่อโต วัดบุปผาราม ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด จ.ตราด

          วัดบุปผาราม วัดปลายคลอง หรือวัดเนินหย่อง ตั้งอยู่ที่ ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดตราด คาดว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2191)

          ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน และโบราณวัตถุหลากหลาย ที่ได้รับการดูแลรักษาบูรณะด้วยความศรัทธาของชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย รัตนโกสินทร์ต้นต้น จวบจนถึงปัจจุบัน

          พระอุโบสถของวัดบุปผารามตั้งอยู่ภายในระเบียงคด มีลักษณะเป็นแบบก่ออิฐถือปูน ผนังด้านนอกสีขาว บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง คงศิลปะตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ยังสามารถรักษาไว้ได้ และบำรุงรักษาบูรณะใหม่จากของเดิมที่ทรุดโทรม ทำให้พระอุโบสถแห่งนี้มีความทับซ้อนกันของศิลปะทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

          ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน พระประธาน ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีพระพุทธลักษณะพิเศษ คือที่พระเนตร (ดวงตา) และพระขนา (เล็บ) ทั้งนิ้วพระและพระหัตถ์ สร้างจากเปลือกหอย จึงมีสีขาวขุ่น เหมือนมนุษย์ทั่วไป

หลวงพ่อโต วัดบุปผาราม

          สิ่งที่น่าสนใจภายในพระอุโบสถ คือ จิตรกรรมฝาผนังศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับการบูรณะจากเหล่าพ่อค้าชาวจีนที่ล่องสำเภามาค้าขาย และตั้งรกรากที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นเมืองท่า โดยงานจิตรกรรมล้วนเป็นฝีมือของช่างพื้นถิ่นที่เป็นชาวจีน ลวดลายต่าง ๆ จึงสะท้อนถึงศิลปะจีน เช่น ลายดอกโบตั๋นในกรอบสีเหลี่ยมด้านหลังหลวงพ่อโต หากสังเกตจะมีความพริ้วของผ้าม่าน ซึ่งผ้าม่านได้ถูกวาดครอบบานช่องหน้าต่างทุกบานประดับด้วยลายผ้าต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน ด้านข้างคือกิเลนและสิงห์คาบคัมภีร์นอกจากนี้ยังมี ลายพระพุทธเจ้าปางแสดงธรรม ลายดอกพุดตาน และบนเพดานเป็นรูปดาว มีลายกลีบบัวซ้อนอยู่ภายใน เป็นต้น

          วิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สันนิษฐานว่าบูรณะพร้อมกับหลวงพ่อโต เพราะที่พระเนตรมีการประดับด้วยเปลือกหอยด้วยเช่นกัน ผนังมีจิตรกรรมฝาผนังเน้นลายดอกไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ปัจจุบันหลุดลอกไป มากแล้ว

          ในบริเวณวัดยังมีกุฏิสงฆ์ ที่สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2370 – 2375 เป็นกุฏิขนาดเล็กจำนวน 11 หลัง มีขนาดประมาณกว้าง 2 เมตร ยาว 4.50 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ให้พระสงฆ์จำวัดเพียงหลังละ 1 รูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 ได้กล่าวไว้ว่าเป็นการสร้างกุฏิที่ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาต ในพระธรรมวินัย ซึ่งทุกวันนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว 

          พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าไว้มากมาย เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปทอง พระพุทธรูปบุเงิน รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองท่าชายฝั่งตะวันออก กับเมืองอื่นทั้งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงโลกตะวันตก

          วัดบุปผาราม เป็นศูนย์รวมในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในวันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี โดยมีกิจกรรมเช่น พิธีทำบุญตักบาตร พิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น การทำบุญฉลองพระทราย กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ซึ่งในช่วงงานเทศกาล ทางวัดจะเปิดพระอุโบสถและวิหารเก่าแก่ภายในวัดให้พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวได้เข้าชมอีกด้วย

          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด ได้คัดเลือกวัดบุปผารามเป็น Unseen New Chapter ของปี 2566

แผนที่วัดบุปผาราม
ต.วังกระแจะ อ. เมืองตราด จ.ตราด

หลวงพ่อโต วัดบุปผาราม ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด จ.ตราด Read More »

พระบรมธาตุเจดีย์บางแก้ว วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

 

ชวนไหว้พระประธานทั่วไทย

          วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว หรือวัดบางแก้ว ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดพัทลุง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-14 – ราว พ.ศ.1482) โดยพื้นที่บริเวณวัดเขียนบางแก้ว เชื่อว่าเคยเป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงมาก่อนเพราะพบซากปรักหักพังของศิลาแลง และพระพุทธรูปมากมาย เช่น พระแก้วคุลาศรีมหาโพธิ (ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น) วัดเขียนบางแก้วมีทั้งช่วงที่รุ่งเรืองเป็นศูนย์รวมชุมชน และช่วงที่รกร้างเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมือง แต่ก็ได้รับการบูรณะและทำนุบำรุงเรื่อยมาจนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวพัทลุงมาจนถึงปัจจุบัน

          ภายในวัดมีสถาปัตยกรรม รวมถึงโบราณสถาน และโบราณวัตถุ หลายอย่าง โบราณสถานที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดคือ พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้วที่มีอายุกว่า 1,๐๐๐ ปี และเป็นหนึ่งในพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แดนใต้ฝั่งอ่าวไทย

“จตุธรรมธาตุ” 4 พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แดนใต้ 

พระบรมธาตุสวี วัดพระธาตุสวี จ.ชุมพร
พระบรมธาตุเมืองนคร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุไชยา วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

          พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐฐาน 8 เหลี่ยม สันนิษฐานว่าได้รับรูปแบบการสร้างมาจากพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ย่อขนาดให้เล็กกว่าวัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร ยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5 ดอก 4 ใบ (ปัจจุบันทองคำหายไป)

          รอบพระมหาธาตุเจดีย์สามด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออก มีระเบียงหรือวิหารคดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในเป็นวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 34 องค์ หันหน้าเข้าหาเจดีย์

          โบสถหรือโบสถ์มหาอุตม์ของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ตั้งอยู่ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกขนานกับคลองบางแก้ว ภายในมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย 5 องค์ ด้านหลังอุโบสถกั้นเป็นห้องไหว้พระพุทธไสยาสน์ปูนปั้น 1 องค์ รอบอุโบสถมีใบพัทธเสมาจำหลักหินทรายแดงไม่มีลวดลายศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น จำนวน 8 ใบ

          พระประธานในอุโบสถวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย มีอุษณีษะเป็นเปลวเพลิง พระพักตร์วงรี พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรงพระนาสิกค่อนข้างยาว แย้มพระโอษฐ์ ทรงจีวรห่มเฉียง เป็นศิลปะสมัยอยุธยา

          โบราณสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (โคกวิหาร) ปัจจุบันเหลือเพียงซากเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีฐานชุกชีก่อด้วยอิฐและหิน ตอนบนมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำหลักจากหินทรายแดง ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นจำนวน 3 องค์ พระเศียรพระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดใหญ่ 1 เศียร วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเคยมีความสำคัญมาในอดีตกาลคือเป็นสถานที่ข้าราชการเมืองพัทลุงมาร่วมกันประกอบพิธีดื่มน้ำสาบานครั้งที่เมืองพัทลุงยังตั้งอยู่ที่โคกเมือง

โคกวิหาร

          นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ เช่น ถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ราชวงศ์เหม็ง  ราชวงศ์เซ็ง  สังคโลกสมัยสุโขทัย ศิวลึงค์ ฐานโยนี และพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้พื้นเมืองเป็นจำนวนมาก เป็นหลักฐานที่แสดงถึงว่าบริเวณนี้มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์

          วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว มีงานประจำปีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 พิธีห่มผ้าพระธาตุ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา
ครั้งที่ 2 มโนราห์โรงครู จัดขึ้นวันพุธแรก เดือน 6 และ
ครั้งที่ 3 มโนราห์ประชันโรง ในวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง แรม 1ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี

พิธีห่มผ้าพระธาตุ
มโนราห์โรงครู
แผนที่ พระบรมธาตุเจดีย์บางแก้ว วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว 

พระบรมธาตุเจดีย์บางแก้ว วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง Read More »

หลวงพ่อจอมสวรรค์

หลวงพ่อจอมสวรรค์/หลวงพ่อสาน วัดจอมสวรรค์ ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่

 

ชวนไหว้พระประธานทั่วไทย

วัดจอมสวรรค์_01

          วัดจอมสวรรค์ หรือวัดจองเหนือ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่ ชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) และชาวบ้านที่อพยพพาครอบครัวเข้ามาอาศัยบริเวณที่ตั้งของวัดปัจจุบัน ได้ร่วมกันสร้างและบูรณะวัดด้วยความศรัทธา ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับการบูรณะสืบมาจนปัจจุบัน ด้วยความความสำคัญของโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่มีอยู่ภายในวัด กรมศิลปากรจึงได้จดทะเบียนให้เป็นสมบัติของชาติ ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2533

เพดานวัดจอมสวรรค์
เพดานวัดจอมสวรรค์

          วัดจอมสวรรค์ มีความโดดเด่นในเรื่องสถาปัตยกรรมพม่างานช่างแบบพุกาม ศิลปะการก่อสร้างวัด หรือ จอง ของชาวไทใหญ่ ที่ทั้งโบสถวิหารและกุฏิ อยู่ในอาคารเดียวกัน ตัวอาคารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีลักษณะคล้ายเรือนหมู่แบบคนไทย แต่มีเอกลักษณ์ของการสร้างหลังคาทรงยอดปราสาทแบบพม่ามอญ เรียกว่า ทรงพญาธาตุ แต่ลดความซับซ้อนลง โดยมีหลังคาเล็กใหญ่ลดหลั่นกันเป็นชั้นรวม 6 ชั้น ภายในเต็มไปด้วยเสาไม้สักทองลงรักปิดทองตกแต่งลวดลายคล้ายสีทองน้ำ ปรากฏข้อความภาษาพม่าจารึกไว้รอบเสา ฝาผนังของอาคารแบ่งเป็นตอน ๆ คล้ายข้ออ้อย เพดานสูงแกะสลักเป็นลวดลายอ่อนช้อยฉลุไม้อย่างประณีต ประดับกระจกสีที่ส่วนใหญ่เป็นรูปสัตว์หิมพานต์ไว้งดงาม

หลวงพ่อจอมสวรรค์
หลวงพ่อจอมสวรรค์

          ภายในอาคารประดิษฐานหลวงพ่อจอมสวรรค์พระประธานปางคันธราฐศิลปะพม่าอยู่ตรงกลางโถง รวมถึงหลวงพ่อสาน พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปองค์นี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งที่ชาวแพร่ให้ความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปงาช้าง คัมภีร์งาช้าง หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบาง ๆ เขียนลงรักแดง จารึกเป็นอักษรพม่า และยังมี บุษบก ลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน

หลวงพ่อสาน
หลวงพ่อสาน

          ใกล้กับอุโบสถมีเจดีย์ใหญ่ รูปทรงแบบพม่า  คล้ายกับเจดีย์ชเวดากอง หรือยอดพระปรางค์วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ คือ มีเจดีย์ใหญ่อยู่กลางรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์

       

          วัดจอมสวรรค์ เป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะไทใหญ่ไม่ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย

          ในวันมาฆบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3) ราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีงานประเพณีไหว้สาป๋าระมี พระธาตุจอมสวรรค์ และมีกิจกรรมตัดตุงไส้หมูจิ๋ว ทำกรวยดอกไม้ด้วยใบตองและทอผ้าห่มพระธาตุ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น

 

แผนที่วัดจอมสวรรค์ ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่ 

หลวงพ่อจอมสวรรค์/หลวงพ่อสาน วัดจอมสวรรค์ ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่ Read More »

พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

ชวนไหว้พระประธานทั่วไทย

          พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ สุพรรณบุรี ถือว่าเป็นพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน มีความสูงกว่า 108 เมตร ฐานกว้าง 88 เมตร หน้าตักกว้าง 65 เมตร เป็นพระพุทธรูปปางโปรดพระพุทธมารดา หรือปางกตัญญูกตเวที ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) บางแบบวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตโบราณสถาน ใกล้กับวัดเขาทำเทียม ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ของเหมืองหินเก่าที่รกร้าง จุดประสงค์ในการสร้างขึ้นเพื่อเป็นอุทยานทางพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของเมืองสุพรรณบุรี

วัตถุโบราณที่ขุดพบในเมืองโบราณอู่ทอง
วัตถุโบราณที่ขุดพบในเมืองโบราณอู่ทอง

          ตามหลักฐานทางโบราณคดี มีแนวคิดว่า การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมินั้น เริ่มต้นจากพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเมารยะ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ของอนุทวีปอินเดีย (พ.ศ. 270–311) ทรงส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งหมด 9 สาย โดยสายที่ 8 ทรงส่งพระโสณะและพระอุตตรเถระ เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ ดังที่ปรากฏร่องรอยพระพุทธศาสนาในอู่ทอง เช่น การค้นพบจารึกปุษยคีรี ที่นักวิชาการส่วนใหญ่ตีความว่าชื่อ “ปุษยคีรี” ที่ปรากฏในจารึกดังกล่าว หมายถึงเขาทำเทียม ซึ่งมีโบราณสถานสำคัญในสมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา รวมทั้งมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้คงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองมายาวนาน ตั้งแต่สมัยทวารวดี จนถึงสมัยอยุธยา

จารึกปุษยคีรี

          ด้านหลังของพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ ตรงบริเวณหน้าผามีการเจาะช่องอุโมงค์หิน ลักษณะคล้ายถ้ำลึกประมาณ 20 เมตร ภายในอุโมงค์ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ พระพุทธรูปแกะสลัก พระแม่ธรณี พ่อปู่ศรีสุทโธ และ เจ้าย่าศรีปทุมมา เป็นต้น อุโมงค์นี้สามารถเดินลอดผ่านได้ มีลมพัดผ่านเข้ามาตลอดเวลาทำให้รู้สึกเย็นสบาย

อุโมงค์ด้านหลังพระ

          นอกจากนี้ รอบองค์พระในบริเวณพื้นที่กว่า 100 ไร่นี้ ยังมีทัศนียภาพสวยงาม ด้วยสนามหญ้า แอ่งน้ำขนาดใหญ่ ทิวเขา และศาลาชมวิว ปัจจุบันกำลังก่อสร้างสกายวอล์คแบบไม่ใช้เสาค้ำแต่ใช้วิธีการยึดกับภูเขาแทน หากแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2568 จะเป็นสกายวอล์คที่ยาวที่สุดในประเทศไทยด้วย 500 เมตร สูง 32 เมตร เป็นพื้นกระจกใส สามารถมองเห็นเบื้องด้านล่างสวยงาม

แผนที่ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี Read More »

พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ วัดศรีสุธารามวัดศรีสุธาราม ต.หญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

          พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “อาภากร” เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาวิชาการทางด้านทหารเรือจากประเทศอังกฤษ และเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ทรงได้เข้ารับราชการทหารเรือ ทรงริเริ่มและพัฒนากิจการต่างๆ ในกองทัพเรือมาตามลำดับ ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” หรือ “หมอพร” ต่อมาใน พ.ศ. 2536 ได้ขนานพระนามพระองค์ว่า “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และเปลี่ยนเป็น “องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย” ในปี พ.ศ. 2544

          พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ประทับพักรักษาพระองค์อยู่ที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มณฑลสุราษฎร์ ระหว่างนั้นทรงประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ พระอาการทรงทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 สิริพระชันษา 42 ปี กองทัพเรือไทยจึงถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันอาภากร”

         เมื่อปี พ.ศ. 2560 หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นในบริเวณวัดวัดศรีสุธารามวัดศรีสุธารามวัดศรีสุธาราม หรือ วัดกำพร้าที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนปากอ่าวไทย เพื่อให้ประชาชนตลอดจนชาวประมงที่เดินเรือผ่านไปมาได้สักการะบูชา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมถึงเป็นการแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติพระองค์ซึ่งเคยเสด็จมาตั้งกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร

          พระอนุสาวรีย์ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์นี้นับได้ว่าเป็นพระอนุสาวรีย์ฯ ที่มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือจากระดับพื้นถึงฐานมีความสูง 3 เมตร แท่นฐานสูง 5 เมตร และขนาดพระรูปฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือสูง 9 เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น 17 เมตร หรือประมาณตึก 6 ชั้น

           นอกจากความสำนึกในพระกรุณาธิคุณแล้ว ยังมีความเชื่อศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับ กรมหลวงชุมพรในหมู่ทหารเรือไทยและคนทั่วไปว่า ถ้ามาขอพรจากท่านแล้วจะได้รับความเมตตาทุกเรื่อง เพราะตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านทรงช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพท่านทรงรักษาประชาชนโดยไม่ต้องเสียเงินรักษา และท่านทรงปฏิบัติราชการในราชนาวีไทย การตั้งศาลองค์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ก็เชื่อกันว่าท่านจะปกปักรักษาลูกหลานเวลาออกเรือประมงให้ปลอดภัยจากอันตราย

วัดศรีสุธารามวัดศรีสุธารามวัดศรีสุธาราม หรือ วัดกำพร้า

          วัดศรีสุธารามวัดศรีสุธาราม ตำบลหญ้าแพรก เขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2369 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นำโดยนายมะนูญ นายมะกริด นายมะแมว นายมะเหมี่ยว ชาวมอญหรือชาวรามัญที่อพยพเข้ามาตั้งเป็นชุมชนบริเวณป่าแสมปากน้ำสาครบุรี เชื่อว่าชื่อวัดกำพร้ามาจากที่ชาวบ้านช่วยกันกำมีด กำพร้า ถางป่าสร้างวัดขึ้นมา ภายในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2510 ภายในประดิษฐานพระประธาน พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร หลวงพ่อดำ หลวงพ่อแดง และพระศรีอริยเมตไตรย

พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ วัดศรีสุธารามวัดศรีสุธาราม ต.หญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร Read More »