ปันธรรม: 31 ตุลาคม 2566 ความรู้ คือ สิ่งงอกงามอันประเสริฐสุด

วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา

บรรดาสิ่งที่งอกงามขึ้นมา วิชชาประเสริฐที่สุด

พุทธพจน์นี้ มาจากเมื่อครั้งหนึ่งมีเทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกไป อะไรหนอประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้ประเสริฐ
บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ ฯ

เทวดาองค์หนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ได้ฟังคำถาม จริงกล่าวแทรกขึ้นมาว่า

“เหตุใดท่านจึงถามปัญหาเช่นนี้กับพระพุทธองค์
เราจะตอบคำถามของท่านเอง”

จากนั้นจึงตอบคำถามตามความเชื่อของตนว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ
(เพราะเมื่องอกแล้วก็จะเป็นอาหาร)

บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝนเป็นประเสริฐ
(เพราะเมื่อฝนตก ข้าวกล้าทั้งหลายก็จะงอกขึ้น)

บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็นประเสริฐ
(เพราะสัตว์ทั้งหลายเมื่อได้บริโภค เบญจโครส [1] แล้วก็จะอยู่สบาย)

บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ
(เพราะบุตรนั้นไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา)

เทวดาองค์อื่นที่ฟังอยู่ แม้จะได้คำตอบจากเทวดาด้วยกัน
แต่ก็ยังยืนยันที่จะถามคำถามเหล่านี้กับพระพุทธเจ้าอีกครั้ง

พระพุทธเจ้าจึงตรัสพุทธพจน์ขึ้นต้นว่า
วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา … เป็นคำตอบว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ
(เพราะความรู้ – วิชาในมรรค 4 เมื่อเกิดขึ้นย่อมถอนอกุศลกรรม)

บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชาเป็นประเสริฐ
(เพราะอวิชชา โดยเฉพาะวัฏฏะ [2] – กิเลส กรรม และวิบาก ที่วนเวียนอยู่ได้หมดไป)

บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นประเสริฐ
(เพราะพระสงฆ์ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติดีจะนำพาผู้อื่นให้พ้นจากอกุศลกรรม)

บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ ฯ
(เพราะการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ทำให้เหล่าสรรพสัตว์มากมายพ้นทุกข์)

————————
[1] เบญจโครส หมายถึง นมโค 5 อย่าง ได้แก่ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น และเปรียง
[2] วัฏฏะ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท ที่หมุนเวียนสืบทอดต่อ ๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก กล่าวคือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก

ที่มา
พระไตรปิฎกเล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 7 วุฏฐิสูตรที่ 4 (15/204-206)
หนังสืออมฤตพจนา พุทธศาสนสุภาษิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปันธรรม: 31 ตุลาคม 2566 ความรู้ คือ สิ่งงอกงามอันประเสริฐสุด Read More »

วัดนางสาว ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

          วัดนางสาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต. ท่าไม้ อ. กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยสันนิษฐานจากลักษณะของพระอุโบสถที่มีฐานแอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภาได้ที่นิยมสร้างกันในสมัยนั้น

          มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในสมัยนั้นที่จังหวัดสมุทรสาครยังเป็นเมืองสาครบุรี เมืองชายฝั่งทะเลตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา มีชาวไทยกลุ่มหนึ่งอพยพหนีภัยสงครามมาถึงวัดร้างอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในบริเวณนั้นมีโบสถ์เก่าอยู่หลังหนึ่งเป็นโบสถ์ที่ทึบมากไม่มีหน้าต่าง จึงได้พากันวิ่งเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ ซึ่งในกลุ่มนั้นมีหญิงสาวสองคนเป็นพี่น้องกัน ที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่าหากรอดพ้นจากภัยอันตรายครั้งนี้จะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ และสร้างวัดให้ใหม่

          หลังจากปลอดภัยจากอันตราย สงครามสงบลง หญิงสาวสองพี่น้องทำมาหากินจนเริ่มมีฐานะจึงคิดจะบูรณะโบสถ์และวัดตามคำอธิษฐาน แต่คนพี่เห็นว่าโบสถ์นั้นเก่ามากแล้วยากแก่การบูรณะซ่อมแซม เมื่อต่อมาได้แต่งงานและย้ายไปอยู่กับสามี จึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่ คือ วัดกกเตย แต่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า วัดพี่สาว (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ส่วนหญิงคนน้องที่ครองตัวเป็นโสด และมุ่งมั่นบูรณะโบสถ์พร้อมสร้างวัดใหม่ดังคำที่ตั้งจิตอธิฐานไว้จนสำเร็จ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า วัดพรหมจารี เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หญิงสาวผู้น้อง แต่คนส่วนใหญ่มักจะ เรียกว่า วัดน้องสาว ต่อมาได้กลายมาเป็น วัดนางสาว ในปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ

โบสถ์มหาอุด

          โบสถ์เก่าสมัยอยุธยาตอนปลายมีลักษณะฐานโค้งรูปเรือสำเภา ผนังพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีจิตรกรรมภาพเขียนแบบลายรดน้ำ  ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องลายนูนต่ำ ภาพเทวดาเหาะเหินเดินอากาศ ภายในประดิษฐานพระประธาน ชื่อ หลวงพ่อมหาอุด มีชื่อเสียงมากในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของผู้คนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ลักษณะพิเศษของโบสถ์มหาอุด คือ มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง ซึ่งพบได้น้อยในปัจจุบัน เชื่อว่าในสมัยโบราณใช้สำหรับวิปัสสนากรรมฐาน เนื่องจากต้องการอยู่ในพื้นที่จำกัดไร้การรบกวนจากภายนอก

วิหารคู่: วิหารหลวงพ่อดำ และวิหารหลวงพ่อป่าเลไลยก์
          วิหารขนาดใหญ่ หันหน้าเข้าแม่น้ำท่าจีน ด้านหน้าวิหารคู่มีรูปปั้นยักษ์ยืนถือกระบองตัวใหญ่ ภายในวิหารแต่ละหลังประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลายวิจิตรสวยงาม มีบันไดขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้ในแต่ละหลัง โดยเมื่อหันหน้าเข้าวิหาร ด้านซ้ายจะเป็นหลวงพ่อป่าเลไลยก์ ส่วนด้านขวาเป็นหลวงพ่อดำ

          หลวงพ่อดำซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อายุนับหลายร้อยปี ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์อภินิหารจนเป็นที่เล่าขานของคนทั่วไป คนที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็น คนดี คิดดี พูดดี และทำดี ทำ มาหากินโดยสุจริตและไม่เบียดเบียนผู้อื่น มาขอพรขอโชคลาภ ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ ทุกครั้ง เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงเป็นที่นับถือและสักการะของประชาชนทั่วไปทั้งจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง

หลวงพ่อป่าเลไลยก์
หลวงพ่อดำ

อุทยานมัจฉาริมแม่น้ำท่าจีน

          บริเวณหน้าวัดซึ่งจะติดกับแม่น้ำท่าจีน มีร่มไม้ ศาลาพักผ่อน และทางเดินลงแพริมน้ำท่าจีน ที่สามารถเดินลงไปให้อาหารปลาได้ นอกจากนี้ยังมีร้านค้า ร้านอาหารอยู่บริเวณโดยรอบมากมาย  

แผนที่ วัดนางสาว ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

#วัดนางสาว #วัดในจังหวัดสมุทรสาคร #โบสถ์มหาอุด #หลวงพ่อมหาอุด #หลวงพ่อดำ #หลวงพ่อดำวัดนางสาว #หลวงพ่อป่าเลไลยก์ #ชวนอ่าน #ชวนไหว้พระทำบุญทั่วไทย #บ้านไอศูรย์

วัดนางสาว ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร Read More »

ปันธรรม: 16 ตุลาคม 2566 ถึงเป็นเรื่องจริงเรื่องดี ก็ควรพูดให้ถูกเวลา

ถึงเป็นเรื่องจริงเรื่องดี ก็ควรพูดให้ถูกเวลา

วาจํ ปมุญฺเจ กุสลํ นาติเวลํ
วาจัง ปะมุญเจ กุสะลัง นาติเวลัง

ไม่ควรเปล่งวาจาที่ดีให้เกินกาล

คำพูดนั้นมีความสำคัญมาก
คำพูดที่ดีย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ
คำพูดที่ไม่ดีย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย

ดังนั้นจึงควรพูดแต่คำพูดที่ดี และต้องพูดให้เหมาะกับกาลเทศะด้วย

คำพูดที่ดีนั้น ประกอบด้วยลักษณะ 5 อย่าง ดังนี้

1) กล่าวในกาลที่สมควร
2) กล่าวคำสัตย์
3) กล่าววาจาสุขุม ละเอียด ไม่หยาบคาย
4) กล่าวคำที่มีประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า
5) กล่าวคำประกอบไปด้วยจิตเมตตา

นิทานชาดก: ราธชาดก
พราหมณ์กับนกแขกเต้า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดนกแขกเต้า ชื่อว่า ราธะ มีน้องชื่อ โปฏฐปาทะ
พรานคนหนึ่งจับลูกนกแขกเต้าสองพี่น้อง ไปให้แก่พราหมณ์คนหนึ่งในกรุงพาราณสี

พราหมณ์เลี้ยงดูนกแขกเต้าไว้ในฐานะบุตร โดยพราหมรณ์มีภรรยาเป็นแต่นางพราหมณี ที่เป็นหญิงไม่รักษาเนื้อรักษาตัว เป็นคนทุศีล

วันหนึ่ง ก่อนพราหมณ์จะไปทำการค้า ได้เรียกลูกนกแขกเต้าพี่น้องมาสั่งว่า

“แน่ะลูกพ่อ พ่อจะไปทำการค้า เจ้าทั้งสองคอยดูการกระทำของแม่เจ้า ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน พึงสืบดูว่า มีชายอื่นไปมาหรือไม่”

ในช่วงพี่พราหมณ์ไม่อยู่
นางพราหมณี ก็ได้คบชู้สู่ชายมากหน้าหลายตา ไป ๆ มา ๆ ทั้ง ทั้งกลางคืนกลางวัน นกโปฏฐปาทะผู้น้องเห็นดังนั้น จึงถามนกราธะว่า เราจะว่าแกดีหรือ
นกราธะตอบว่า “อย่าว่าแกเลย น้อง”

แต่นกโปฏฐปาทะไม่เชื่อฟังคำของนกราธะ จึงไปต่อว่า นางพราหมณีว่า
“แม่ เพราะอะไร แม่จึงทำการน่าอดสูอย่างนี้”

นางพราหมณีถูกต่อว่าเช่นนั้นก็นึกอยากจะฆ่านกโปฏฐปาทะนัก จึงแสร้างทำเป็นรัก ร้องเรียกให้มาหา
“นี่ลูก เจ้าก็เป็นลูกของแม่ ตั้งแต่นี้ไปแม่จักไม่ทำอีก มานี่ก่อนซิลูก”

พอนกโปฏฐปาทะมา ก็ตะคอกว่า
“เจ้าพูดกะเรา เจ้าไม่รู้ประมาณตน” แล้วบิดคอเสียจนตายโยนลงไปในเตา

เมื่อพราหมณ์กลับมาถึงบ้าน ก็ได้ถามราธะนกผู้พี่ว่า
“แน่ะพ่อราธะ แม่ของเจ้าได้ไปคบหาบุรุษอื่นหรือไม่”
นกราธะตอบว่า
“ข้าแต่พ่อ บัณฑิตจะไม่พูดวาจาสัจจริง แต่ไม่ดี เพราะหากพูดไปก็คงจะต้องถูกเผานอนจมอยู่ในเตาไฟดุจน้องโปฏฐปาทะเป็นแน่”

เพิ่มเติม
นกแขกเต้าโปฏฐปาทะในครั้งนั้น ได้เป็น อานนท์
สัจจะ คือมีสภาพที่เป็นจริงและประกอบด้วยประโยชน์
ความจริงที่ไม่ดี คือ ไม่ทำให้พ้นทุกข์

ที่มา
พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 ราธชาดก
ว่าด้วยเรื่องจริงเก่าไม่ดีไม่ควรพูด

ปันธรรม: 16 ตุลาคม 2566 ถึงเป็นเรื่องจริงเรื่องดี ก็ควรพูดให้ถูกเวลา Read More »

ปันธรรม: 3 ตุลาคม 2566 อย่าถามถึงชาติกำเนิด จงถามถึงความประพฤติ

มา ชาตึ ปุจฺฉ
จรณญฺจ ปุจฺฉ
อย่าถามถึงชาติกำเนิด
จงถามถึงความประพฤติ

• พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาสุนทริกสูตรที่ 9
• อมฤตพจนา พุทธศาสนสุภาษิต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปันธรรม: 3 ตุลาคม 2566 อย่าถามถึงชาติกำเนิด จงถามถึงความประพฤติ Read More »

ปันธรรม: 28 กันยายน 2566 มุ่งร้ายเขา บาปนั้นย่อมเข้าตัว

ปันธรรม: 28 กันยายน 2566 มุ่งร้ายเขา บาปนั้นย่อมเข้าตัว

อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ
สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโต

ผู้ใดประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสดุจเนิน
บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลนั่นเอง
เหมือนธุลีอันละเอียดที่เขาซัดทวนลมไปฉะนั้น
(ขว้างฝุ่นทวนลม)

ที่มา:
พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17
ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ 9 เรื่อง นายพรานสุนัขชื่อโกกะ
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19&p=9

พุทธพจน์นี้ มาจากเรื่องของ นายพรานสุนัขชื่อโกกะกับพระภิกษุรูปหนึ่ง

วันหนึ่ง นายพรานสุนัข ชื่อ โกกะ
ถือธนูพร้อมฝูงสุนัขออกไปป่า
พบกับภิกษุกำลังบิณฑบาตอยู่ระหว่างทาง
เห็นแล้วรู้สึกโกรธ และคิดว่า
“วันนี้เจอคนกาลกิณี เราน่าจะไม่ได้อะไรจากป่าเลย”
คิดเช่นนั้นก็เดินหลีกไป

ปรากฏว่าวันนั้น นายพรานก็ล่าอะไรในป่าไม่ได้เลยจริง ๆ
เมื่อเดินออกจากป่า นายพรานบังเอิญได้พบกับภิกษุรูปเดิมอีกครั้ง
จึงนึกโกรธโทษว่า
“วันนี้ไม่ได้อะไรจากป่า เพราะเจอคนกาลกิณีนี่
เราจะให้ฝูงสุนัขไปรุมกัดพระรูปนั้นเสีย”

แล้วให้สัญญาณปล่อยสุนัขทั้งหมดวิ่งตรงไปที่พระภิกษุ
พระภิกษุรีบปีนต้นไม้หนี ฝูงสุนัขก็พากันล้อมต้นไม้นั้น

แต่ถึงแม้จะอยู่บนต้นไม้
นายพรานก็ยังใช้ปลายลูกศรแทงไปที่เท้าทั้งสองข้างของพระภิกษุ
ไม่ว่าพระภิกษุจะอ้อนวอนพรานอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด

พระภิกษุเกิดความทุกข์ทรมานมาก
พยายามหลบหลีกจนจีจรหลุด
จีวรนั้นหล่นลงมาคลุมร่างนายพรานโกกะตั้งแต่หัวจรดเท้า
ฝูงสุนัขเข้าใจผิดคิดว่าพระภิกษุตกลงมาจากต้นไม้แล้ว
จึงกรูเข้าไปใต้จีวร และกัดกินนายพรานโกกะจนเหลือแต่กระดูก

เมื่อสุนัขออกมานอกจีวร
พระภิกษุที่ยังอยู่บนต้นไม้ หักกิ่งไม้แห้งขว้างสุนัขเหล่านั้น
สุนัขเห็นพระภิกษุจึงรู้ว่า ได้กัดกินเจ้าของตัวเอง จึงหนีเข้าป่า

พระภิกษุ ถึงแม้จะถูกประทุษร้าย จนเท้าทั้งสองข้างได้รับบาดเจ็บ
แต่ก็ไม่ได้มีความคิดถือโทษโกรธแค้นต่อนายพรานโกกะ
เพียงแต่เกิดความสงสัยขึ้นว่า
การที่จีวรของตนเป็นเหตุให้พรานสิ้นชีวิตนั้น ตนเองจะผิดศีลหรือไม่

เมื่อได้เฝ้าพระพุทธเจ้า พระภิกษุจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นตั้งแต่ต้นแล้วทูลถาม
พระพุทธองค์ ตรัสตอบว่า

“ภิกษุ ศีลของเธอไม่ด่างพร้อย
สมณภาพ (ความเป็นสมณะ) ของเธอยังมีอยู่
เขาประทุษร้ายต่อเธอผู้ไม่ประทุษร้าย จึงถึงความพินาศ”

และทรงเล่าเรื่องในอดีตชาติของนายพรานโกกะ
ที่เคยประทุษร้ายผู้อื่นเช่นกันว่า

ชาติก่อนนายพรานเป็นหมอรักษาโรค
แต่ไม่มีงานทำจนเกิดความหิว
เมื่อเห็นเด็ก ๆ ในหมู่บ้านจำนวนมาก
จึงคิดว่าจะให้งูกัดเด็กแล้วรักษา จะได้มีเงินไปซื้ออาหารกิน

เมื่อคิดดังนั้น จึงนำงูมาใส่ในโพรงไม้
แล้วหลอกเด็กว่า ภายในโพรงไม้เป็นลูกนกสาลิกา

เด็กคนหนึ่งหลงเชื่อ ยื่นมือเข้าไปหวังจะคว้าจับนกสาลิกาได้เต็มมือ
ภายในโพรงไม้ งูกำลังชูคออยู่ เด็กจึงจับไปที่คอของงูพอดี
เด็กน้อยกำแน่นแล้วดึงออกมาจากโพรงไม้
พอรู้ว่าเป็นงูจึงสลัดออกจากมือ
งูถูกเหวี่ยงหล่นไปที่ศีรษะของหมอ จึงรัดก้านคอและกัดหมอเสียชีวิต

เมื่อเล่าเรื่องในอดีตกาลนี้จบ
พระพุทธองค์จึงแสดงธรรมข้างต้น
ภิกษุรูปนั้นเมื่อฟังธรรมแล้วก็บรรลุพระอรหัตผล

#มุ่งร้ายเขา #บาปนั้นย่อมเข้าตัว #พุทธศาสนสุภาษิต #พระไตรปิฎก #นายพรานสุนัขชื่อโกกะ #โกกะ #ปันธรรม #บ้านไอศูรย์

 

ปันธรรม: 28 กันยายน 2566 มุ่งร้ายเขา บาปนั้นย่อมเข้าตัว Read More »

วัดพระบรมธาตุสวี ต.สวี อ.สวี จ.ชุมพร – พระบรมธาตุสวี

ภาพมุมสูงวัดพระบรมธาตุสวี

          วัดพระบรมธาตุสวี ตั้งอยู่ที่ ต.สวี อ.สวี จ.ชุมพร ใกล้กับคลองสวี บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา มีตำนานถึงประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นคู่กับพระบรมธาตุสวี ภายในวัดมีบรรยากาศที่ร่มรื่น เงียบสงบ มีโบราณสถาน และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เช่น พระบรมธาตุสวี ศาลพระเสื้อเมือง และพิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุสวี

พระบรมธาตุสวี

พระบรมธาตุสวี

          พระบรมธาตุสวี มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา จนเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอดพระธาตุได้หักพังลง จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่ ปัจจุบันองค์เจดีย์มีความสูง 14.25 เมตร ประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 8.50 เมตร ด้านในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีเจดีย์องค์เล็กจำลองแบบจากเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งอยู่รอบฐานทั้ง 4 มุม มีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายตามแนวระเบียงทั้ง 4 ทิศรวมประมาณ 110 องค์ พระบรมธาตุสวีได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2544

          มีตำนานเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราชพระองค์หนึ่ง (พระนามของกษัตริย์ผู้ปกครองนครตามพรลิงค์ หรือ นครศรีธรรมราช ช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-19) พากองทัพกลับจากสงครามมาหยุดพักแรกที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีซากปรักหักพังเป็นกองอิฐดินเผาเกลื่อนกลาดทับถมกันอยู่ ในขณะนั้นมีกาเผือกกับกาฝูงหนึ่งบินมาจับกลุ่มอยู่ที่ซากอิฐดินเผาแล้วพากันวีปีกและส่งเสียงร้องขึ้นพร้อมกัน แม้จะไล่ไปกี่ครั้งก็กลับมาอีก พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จึงทรงรับสั่งให้ทหารรื้อซากปรักหักพังออก พบองค์พระเจดีย์ใหญ่ยังเหลืออยู่ท่อนหนึ่งขุดดูภายในมีผอบทองบรรจุพระธาตุ จึงรับสั่งให้ก่อสร้างบูรณะพระเจดีย์องค์ขึ้นใหม่ แล้วนำเอาพระบรมธาตุเข้าบรรจุประดิษฐานไว้เช่นเดิม พระราชทานชื่อว่า พระบรมธาตุกาวีปีก ต่อมาคงเหลือแต่พระบรมธาตุกาวี และกร่อนเสียงเป็นพระบรมธาตุสวี ดังปัจจุบัน

พระเสื้อเมือง วัดพระบรมธาตุสวี

ศาลพระเสื้อเมือง

          ศาลพระเสื้อเมือง เดิมเป็นอาคารไม้ปิดทึบ และมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก กรมศิลปากรจึงร่วมมือกับทางวัดบูรณะออกแบบอาคารใหม่ เป็นอาคารทรงไทยหลังคาจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ผนังก่ออิฐฉาบปูน พื้นอาคารปูด้วยหินอ่อน ภายในมีประติมากรรมปูนปั้นเรียกกันว่า เจ้าพ่อเสื้อเมือง ตามตำนานที่เล่าขานของทางวัดเล่าว่า เป็นทหารที่อาสาสละชีวิตเพื่อดูแลรักษาพระบรมธาตุ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ศาลนี้จึงได้ขนานนามว่า ศาลพระเสื้อเมือง อยู่คู่พระบรมธาตุสวีสืบม

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุสวี

พิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุสวี

          แหล่งรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ภายในประกอบด้วยจุดจัดแสดงวัตถุโบราณ บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุสวี พื้นที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งจำลองวิถีชีวิตของชาวชุมพรในสมัยโบราณ เพื่อให้นักท่องเที่ยงและผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้

พิธีสมโภชพิธีอัญเชิญผ้าพระราชทานขึ้นห่มพระบรมธาตุสวี
พิธีสมโภชพิธีอัญเชิญผ้าพระราชทานขึ้นห่มพระบรมธาตุสวี

          วัดพระบรมธาตุสวี จัดพิธีสมโภชผ้าพระราชทาน และพิธีอัญเชิญผ้าพระราชทาน ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นห่มพระบรมธาตุสวี ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี เพื่อสืบสานประเพณี และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของอาณาจักรศรีวิชัย

แผนที่ วัดพระบรมธาตุสวี ต.สวี อ.สวี จ.ชุมพร

#วัดพระบรมธาตุสวี #พระบรมธาตุสวี #ตำบลสวี #อำเภอสวี #จังหวัดชุมพร #สวี #ชุมพร #พระเจ้าศรีธรรมโศกราช #พระบรมธาตุกาวีปีก #พระบรมธาตุกาวี #ศาลพระเสื้อเมือง #เจ้าพ่อเสื้อเมือง #พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุสวี #พิธีสมโภชผ้าพระราชทาน #พิธีอัญเชิญผ้าพระราชทาน #ห่มผ้าพระบรมธาตุสวี #ชวนไหว้พระทำบุญทั่วไทย #บ้านไอศูรย์

วัดพระบรมธาตุสวี ต.สวี อ.สวี จ.ชุมพร – พระบรมธาตุสวี Read More »

ปันธรรม: 25660904 อย่ามัวมองแต่ทิศที่ทุกข์

ปันธรรม: 25660904 อย่ามัวมองแต่ทิศที่ทุกข์

ทิศมี 8 ทิศ 16 ทิศ
ใยคิด มองเพียง ทิศเดียวเล่า
ลองเปลี่ยน มุมมอง ให้ใจเบา
ให้ทุกข์เพลา เพิ่มสุข สบายใจ

คนเราเป็นทุกข์
ก็เพราะไปคิดแต่เรื่องทุกข์เรื่องเดียว
ไม่รู้จักเปลี่ยนอารมณ์
ไม่รู้จักเปลี่ยนแนวคิด
คิดแต่เรื่องที่จะทำให้เป็นทุกข์
มองด้านเดียว

ทิศมันก็มีตั้ง 8 ทิศ 16 ทิศ นี่
เรามองอยู่ทิศเดียวทำไม
มองไปทิศนั้นไม่สบายตา
มองไปทิศโน้นบ้างทิศนี้บ้าง
มันมีทิศที่สบายตาสบายใจอยู่เยอะแยะ
แล้วทำไมไปมองจ้องอยู่ที่ตรงทิศที่เป็นทุกข์ล่ะ

จากหนังสือ ทำใจให้เป็นสุข บท มองโลกในแง่ดี
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ – พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)
สนใจอ่านฉบับเต็ม: http://www.openbase.in.th/files/panya004.pdf

#อย่ามัวมองแต่ทิศที่ทุกข์ #ทิศ #8ทิศ #16ทิศ #เปลี่ยนมุมมอง #ทำไมไปมองจ้องอยู่ที่ตรงทิศที่เป็นทุกข์ #ทำใจให้เป็นสุข #มองโลกในแง่ดี #หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ #พระพรหมมังคลาจารย์ #ปั่น #ปทุมุตฺตโร #ปันธรรม #บ้านไอศูรย์

ปันธรรม: 25660904 อย่ามัวมองแต่ทิศที่ทุกข์ Read More »

วัดสันป่ายางหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน – วิหารพระเขียวโขง

          วันสันป่ายางหลวง ตั้งอยู่ในตัวเมืองตรงข้ามกับเทศบาลเมืองลำพูน เดิมเป็นวัดในศาสนาพรหมณ์ ภายหลังจากมีพระกัณฑ์พระโสภโณ พระอุตตโม พระเถระจากพม่าได้มาจำพรรษาเผยแผ่ศาสนาพุทธ ชาวบ้านเกิดความศรัทธาจึงเปลี่ยนมาเป็นวัดพุทธศาสนาแห่งแรกของแคว้นล้านนา ในปี พ.ศ. 1074 โดยมีชื่อเดิมว่า วัดขอมลำโพง 

          ต่อมาพระพุทธศาสนาได้เสื่อมลงตามกาลเวลา จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 1202 ในรัชสมัยของพระนางจามเทวี  ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูน จึงได้มีการฟื้นฟูบูรณะวัดสันป่ายางหลวง ด้วยการสร้างถาวรวัตถุและกำหนดเขตธรณีสงฆ์ขึ้นใหม่ พร้อมกับได้รับชื่อใหม่ว่า “วัดสันป่ายางหลวง” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่ตั้ง เนื่องจากในสมัยก่อนบริเวณดังกล่าวมีต้นยางขึ้นอย่างหนาทึบ

          ภายในวัดสันป่ายาง มีสถานที่สำคัญและสวยงามหลาย เช่น  วิหารพระเขียวโขง พระธาตุวัดสันป่ายาง วิหารพระพุทธบาทจำลอง เป็นต้น

พระวิหารพระเขียวโขง

          พระวิหารพระเขียวโขง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยมีพระครูบาอินทรเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างและออกแบบลวดลายพื้นเมืองที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะสมัยเก่ากับสมัยใหม่ โดยใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากประเทศลาว พม่า และไทย มีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างละเอียด วิจิตรงดงาม ทั้งมุมหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง รวมทั้งมีการแกะสลักลาย ลงรักปิดทอง เสาพระวิหาร บานประตู และหน้าต่างทุกบาน อย่างสวยงาม

          พระวิหารพระเขียวโขงสร้างขึ้นโดยอ้างอิงตำนานพื้นเมืองที่ปรากฏในคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ผางประทีป (ผ่างปะตี๊ด) ร่วมกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดย ตำนานผางประทีปเล่าถึงตำนานเริ่มต้นของการตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่ในอดีตกาลเกิดเป็นลูกนางกาเผือก เมื่อยังเป็นไข่ถูกลมพัดไปในที่ต่าง ๆ และมีสัตว์ 5 ชนิด คือ ไก่ นาค เต่า วัว และ หญิงชาวบ้าง (บ้างว่า ราชสีห์) เก็บรักษาและเลี้ยงดู ส่วนแม่กาเมื่อหาลูกไม่เจอก็ขาดใจตาย

          ตัวอย่าง สถาปัตยกรรมที่แฝงความเชื่อเรื่องผางประทีปและสะท้อนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น

  • หลังคาพระวิหาร 5 ชั้น และ ช่อฟ้าด้านหน้า 5 ตัว หมายถึง พระเจ้า 5 พระองค์
  • ช่อฟ้าด้านหลังวิหาร 3 ตัว หมายถึง ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
  • ช่อฟ้าทั้งหมด 8 ตัวรวมกัน หมายถึง มรรค 8 แนวทางปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อมุ่งสู่นิพพาน 
  • กลางหลังคาพระวิหารมี เรือหงส์และฉัตร หมายถึง โลกุตตรธรรม หรือ นิพพาน ความสงบดับเย็นพ้นจากกิเลสตัณหา
  • ด้านล่างพระวิหารมีรูปปั้นผางประทีป เปรียบเหมือนรังกาและกาเผือกนอนในรัง
  • พระพรหมสี่หน้าที่ประทับบนหลังกา หมายถึง แม่กาเผือกที่ได้จุติเป็นท้าวสกุณาวกาพรหม ต้นกำเนิดตำนานผางประทีป
  • บนราวบันไดมี รูปปั้นของไก่ หมายถึง แม่ไก่ที่เก็บไข่แม่กาเผือกมาเลี้ยงดูเป็นลูกจนเติบใหญ่ ซึ่งได้ตั้งจิตอธิษฐาน และเกิดใหม่จนบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แรก มีพระนามว่า กกุสันโธ
  • รูปปั้นนาคแผ่พังพาน 5 ตัว หมายถึง แม่พญานาคที่เก็บไข่แม่กาเผือกมาเลี้ยงดูเป็นลูกจนเติบใหญ่ ซึ่งได้ตั้งจิตอธิษฐาน และเกิดใหม่จนบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ 2 มีพระนามว่า โกนาคะมะโน 
  • ในรูปปั้นนั้นพญานาคนั่งอยู่บนหลังเต่า หมายถึง แม่เต่าที่เก็บไข่แม่กาเผือกมาเลี้ยงดูเป็นลูกจนเติบใหญ่ ซึ่งได้ตั้งจิตอธิษฐาน และเกิดใหม่จนบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ 3 มีพระนามว่า กัสสะโป
  • ด้านซ้ายและด้านขวามีรูปปั้นโคนอน หมายถึง แม่โคที่เก็บไข่แม่กาเผือกมาเลี้ยงดูเป็นลูกจนเติบใหญ่ ซึ่งได้ตั้งจิตอธิษฐาน และเกิดใหม่จนบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 4 พระนามว่า โคตะโม
  • สูงขึ้นไปมีรูปปั้นเทวดาคู่ยืนอยู่ที่ซุ้มประตู หมายถึง หญิงชาวบ้านที่ได้เก็บไข่แม่กาไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ และจะได้จุติเกิดมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าศรีอริยะเมตไตรย
พระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย หรือ พระเขียวโขง

          ภายในพระวิหารพระเขียวโขง ประดิษฐานของพระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย หรือ พระเขียวโขง พระพุทธรูปแกะสลักจากหินแม่น้ำโขง บ้านดอนมหาวัน ใกล้กับประเทศลาว มีสีเขียวอมดำเนื้อละเอียด ขนาดหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541

พระธาตุวัดสันป่ายางหลวง

          นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีสถาปัตยกรรมที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายที่ เช่น พระธาตุวัดสันป่ายางหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุกลางกระหม่อมของอัครสาวกในองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระโมคคัลลานะ กับ พระสารีบุตร และ วิหารพระพุทธบาทจำลองสี่รอยและพระนิลสมุทร (พระแร่เกาะล้าน) 

ภายในวิหารพระพุทธบาทจำลอง

          วัดสันป่ายางหลวง ได้รับการชื่นชมว่า เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมงดงามโดยเฉพาะวิหารที่ติดอันดับ 1 ใน 10 วิหารสวยของประเทศไทย

แผนที่ วัดสันป่ายางหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน

วัดสันป่ายางหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน – วิหารพระเขียวโขง Read More »

ปันธรรม: 25660829 ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้

ปันธรรม: 25660829_ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

โดยทั่วไปถือกันว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด
เมื่อถึงคราวจำเป็นคนเราอาจสละทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิต

หากพิจารณาตามแนวของพระพุทธศาสนาก็เป็นจริงเช่นนั้น
พระพุทธศาสนาถือว่า รากฐานของชีวิตคือความดี
หากมีความดีไม่ถึงขั้น ก็จะไม่ได้ความเป็นมนุษย์

ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก

เมื่อชีวิต ซึ่งก็คือ การที่ได้มาเป็นมนุษย์ นั้นมีค่า
เราจึงควรใช้ชีวิตให้สมค่าของชีวิต โดยการทำความดี
ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำความดีให้ถึงพร้อม
การทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์
และ การประกอบประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ไม่ปล่อยชีวิตให้เป็นไปอย่างเปล่าประโยชน์
ประพฤติปฏิบัติแต่คุณงามความดี
จึงได้ชื่อว่ามี สุชีวิต คือ มีชีวิตที่ดีงาม

พระพรปีใหม่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประทานแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

.
#ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ #ธรรม #ประพฤติดี #สุข #ความสุข
#สมเด็จพระญาณสังวร #สมเด็จพระสังฆราช #สกลมหาสังฆปริณายก
#ปันธรรม #บ้านไอศูรย์

ปันธรรม: 25660829 ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ Read More »

ปันธรรม: 25660828 ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์

ปันธรรม: 25660828 ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์

ปัญฺญา ว ธเนน เสยฺโย
“ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์”
.
เงินทองทรัพย์สิ่งสิ้น……….วัวควาย
โจรลักขโมยขาย…………….แย่งยื้อ
ซื้อสรรพสิ่งทั้งหลาย………..ด้วยทรัพย์ นั้นแล
แต่มิอาจใช้ซื้อ……………….สุขแท้นิพพาน
.
ปัญญาเป็นทรัพย์ล้ำ…………เลอเลิศ
เป็นสิ่งอันประเสริฐ…………..ยิ่งล้น
อาจก่อเกียรติช่วยเชิด………ชูชื่อ
รู้จักนำตนพ้น…………………..จากห่วงทุกข์กรรม
.
พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปันธรรม: 25660828 ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ Read More »