ปันธรรม: 15 พฤศจิกายน 2566 ความวิวาทเป็นภัย สามัคคีมีน้ำใจต่อกันดีกว่า

ปันธรรม: ความวิวาทเป็นภัย สามัคคีมีน้ำใจต่อกันดีกว่า

วิวาทํภยโต ทิสฺวา
อวิวาทญฺจ เขมโต
สมคฺคา สขิลา โหถ
เอสาพุทฺธานุสาสนี

ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ท่านทั้งหลาย จงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย
และเห็นความไม่วิวาทโดยเป็นทางเกษม
แล้วจงกล่าววาจาอ่อนหวานอันสมัครสมานกันเถิด

ในพระพุทธศาสนา แนวคิดการจัดการความขัดแย้ง
จึงประกอบด้วย การกล่าววาจาที่อ่อนหวาน
การสร้างความสามัคคีปรองดองพร้อมเพรียงกันในหมู่คณะ
และมีความประนีประนอมต่อกันและกัน จึงจะเกิด สันติภาพ
ซึ่งเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เพิ่มเติมเรื่องสันติภาพ

สันติภาพตามวิทยาการสมัยใหม่ หมายถึง สภาวะแห่งความสันติ การไม่มีสงคราม ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หรือ การยุติความขัดแย้งให้สงบลง หรือหมายถึงสถานะแห่งความเงียบ หรือความสุข ในตัวบุคคล โดยเน้นไปถึง สันติภาพภายนอก

วิธีการสร้างสันติภาพตามวิทยาการสมัยใหม่จึงมุ่งเน้นไปที่การต่อต้านความไม่ยุติธรรม ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบ ต่อต้านความรุนแรง ต่อต้านความขัดแย้ง ต่อต้านสงคราม ต่อสู้รณรงค์เพื่อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพทั้งในแง่สันติภาพของบุคคล ในสังคม ประเทศ และโลก

สันติภาพตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ความสุข สงบเย็น เป็นอิสระจากความทุกข์
การสร้างสันติภาพจึงมุ่งเน้นที่จิตใจมนุษย์อันเป็น สันติภาพภายใน ซึ่งมีพัฒนาการไปถึงขั้นสูงสุด คือ นิพพาน ตัวอย่างการฝึกฝนอบรมตนเพื่อให้เกิดสันติภาพ เช่น การปฏิบัติตามหลัก ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ และ ปัญญา อธิบายได้ว่า

การฝึกตนเองในด้านพฤติกรรมภายนอกทางกาย วาจา เรียกว่า ศีล
การฝึกฝนพัฒนาตนในด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิ
และ การฝึกฝนพัฒนาตนในด้านความรู้ ความเข้าใจให้เข้าถึงความจริง เรียกว่า ปัญญา

หากมนุษย์ยังไม่ค้นพบสันติภาพภายใน
สันติภาพภายนอกก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
การสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของแต่ละบุคคล
อันจะทำให้เกิดสันติภาพภายในจิตใจ
จึงมีความสำคัญ

ที่มา

ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.) เรื่อง “การสร้างสันติภาพภายในตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท” บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2565) โดย ลลิตภัทร เจนจบ

บทความเรื่อง “พุทธวิธีแก้ปัญญหาความขัดแย้ง” วารสารวิชาการ มจร บุรีรัมย์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (2563): มกราคม-มิถุนายน โดย พระมหาประเสริฐ สุเมโธ, ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ และ ทิพย์ขันแก้ว

หนังสือ อมฤตพจนา พุทธศาสนสุภาษิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระไตรปิฎก เล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

#ความวิวาทเป็นภัยสามัคคีมีน้ำใจต่อกันดีกว่า #ความวิวาทเป็นภัย #ความขัดแย้ง #ความสามัคคี #สันติภาพ #สันติภาพภายใน #สันติภาพภายนอก #ศีล #สมาธิ #ปัญญา #พระไตรปิฎก #อมฤตพจนา #ปันธรรม #บ้านไอศูรย์