
วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา
บรรดาสิ่งที่งอกงามขึ้นมา วิชชาประเสริฐที่สุด
พุทธพจน์นี้ มาจากเมื่อครั้งหนึ่งมีเทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกไป อะไรหนอประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้ประเสริฐ
บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ ฯ
เทวดาองค์หนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ได้ฟังคำถาม จริงกล่าวแทรกขึ้นมาว่า
“เหตุใดท่านจึงถามปัญหาเช่นนี้กับพระพุทธองค์
เราจะตอบคำถามของท่านเอง”
จากนั้นจึงตอบคำถามตามความเชื่อของตนว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ
(เพราะเมื่องอกแล้วก็จะเป็นอาหาร)
บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝนเป็นประเสริฐ
(เพราะเมื่อฝนตก ข้าวกล้าทั้งหลายก็จะงอกขึ้น)
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็นประเสริฐ
(เพราะสัตว์ทั้งหลายเมื่อได้บริโภค เบญจโครส [1] แล้วก็จะอยู่สบาย)
บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ
(เพราะบุตรนั้นไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา)
เทวดาองค์อื่นที่ฟังอยู่ แม้จะได้คำตอบจากเทวดาด้วยกัน
แต่ก็ยังยืนยันที่จะถามคำถามเหล่านี้กับพระพุทธเจ้าอีกครั้ง
พระพุทธเจ้าจึงตรัสพุทธพจน์ขึ้นต้นว่า
วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา … เป็นคำตอบว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ
(เพราะความรู้ – วิชาในมรรค 4 เมื่อเกิดขึ้นย่อมถอนอกุศลกรรม)
บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชาเป็นประเสริฐ
(เพราะอวิชชา โดยเฉพาะวัฏฏะ [2] – กิเลส กรรม และวิบาก ที่วนเวียนอยู่ได้หมดไป)
บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นประเสริฐ
(เพราะพระสงฆ์ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติดีจะนำพาผู้อื่นให้พ้นจากอกุศลกรรม)
บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ ฯ
(เพราะการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ทำให้เหล่าสรรพสัตว์มากมายพ้นทุกข์)
————————
[1] เบญจโครส หมายถึง นมโค 5 อย่าง ได้แก่ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น และเปรียง
[2] วัฏฏะ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท ที่หมุนเวียนสืบทอดต่อ ๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก กล่าวคือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
ที่มา
พระไตรปิฎกเล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 7 วุฏฐิสูตรที่ 4 (15/204-206)
หนังสืออมฤตพจนา พุทธศาสนสุภาษิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)